ข่าวประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทย์ร่วมมือ "Chevron Enjoy Science” เปิด Enjoy Maker Space
กระทรวงวิทย์ - อพวช. ร่วมกับโครงการ "Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" เปิดพื้นที่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ "Enjoy Maker Space” ที่อาคารจามจุรีสแควร์ สร้างพื้นที่ปลดปล่อยจินตนาการของเยาวชนสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม หวังปั้นเมกเกอร์รุ่นใหม่
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า กระทรวงวิทย์ฯ โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ภายใต้โครงการ "Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" ได้ร่วมกันสร้างพื้นที่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ของประเทศ ภายใต้ชื่อ " Enjoy Maker Space" ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อาคารจามจุรีสแควร์ เพื่อให้เยาวชนได้ลงมือปฏิบัติจริง โดยนำจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์มาผสานในกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนเห็นภาพว่าแรงบันดาลใจสามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จับต้องได้จริง โดยมีองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เป็นแกนหลักในการรับผิดชอบบริหารจัดการพื้นที่การเรียนรู้แห่งนี้
"กระทรวงฯ และ โครงการ "Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” เห็นพ้องร่วมกันว่า การยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศให้ยั่งยืนแท้จริง ต้องเริ่มที่การปลูกฝังเยาวชนอนาคตของชาติให้เกิดกระบวนการเรียนรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง จึงเป็นที่มาของ “Enjoy Maker Space” ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงฯ ที่ตั้งเป้ายกระดับบุคลากรประเทศ ด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม อันเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศยุคไทยแลนด์ 4.0 ตามยุทธศาสตร์รัฐบาล โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้ด้าน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำรงชีวิตและประกอบวิชาชีพในอนาคต” ดร.อรรชกากล่าว
ด้าน นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “แนวคิดการเปิด Maker Space คือ การสร้างพื้นที่ให้เยาวชนไทยเกิดการปลดปล่อยจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ ปลุกความเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือ "เมกเกอร์" (Maker) นำเสนอความรู้ด้าน STEM ออกมาในรูปแบบผลงาน หรือ สิ่งประดิษฐ์ของตนเองได้อย่างอิสระ เป็นจุดเริ่มต้นสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้ประเทศ Enjoy Maker Space จะดำเนินกิจกรรมลักษณะ Hands-On หมายถึงการได้ลงมือทดลองปฏิบัติจริงซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีข้อจำกัดทั้งในและนอกห้องเรียน โดยพื้นที่การเรียนรู้แห่งนี้มีความพร้อมทั้งสถานที่และเครื่องมือต่างๆ เช่น พรินเตอร์ 3มิติ, เครื่องตัดเลเซอร์ จนถึงอุปกรณ์ทั่วไป อาทิ การ์ดบอร์ด แท่งพลาสติก หรือ สิ่งที่หาได้รอบตัว เช่น ไม้ไอศกรีม ฯลฯ ที่ช่วยสนับสนุนโอกาสการพัฒนาความคิด การสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ โดยพร้อมเปิดให้บริการแก่เยาวชนและครอบครัวทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00 -18.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่ง อพวช. มีแผนจัดกิจกรรม Maker Space รูปแบบ Open House ตามพื้นที่หัวเมืองหลักทั่วประเทศต่อไป”
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า “Enjoy Maker Space เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่โครงการ “Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ร่วมให้การสนับสนุน เพราะเล็งเห็นว่าเยาวชนยังขาดพื้นที่แสดงออกทางความคิดสู่การสร้างสรรค์ผลงาน จึงมุ่ง ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทย ซึ่งแนวคิดแบบเมกเกอร์นี้จะส่งผลให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learners) ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง Enjoy Maker Space แห่งนี้ได้รับความร่วมมือจาก New York Hall of Science ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรมการสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือ เมกเกอร์ ที่ได้รับการยอมรับระดับสากล มาให้คำปรึกษาด้านการออกแบบกิจกรรม รวมทั้งจัดอบรมเจ้าหน้าที่ อพวช. เพื่อที่จะเป็นพี่เลี้ยงผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำแก่เยาวชนที่เข้ามาใช้บริการ”
นายอาทิตย์กล่าวเพิ่มเติมว่า “บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง โดยให้การสนับสนุน ในด้านการเตรียมความพร้อมเยาวชน จากการจัดกิจกรรมหลากหลายต่อเนื่อง อาทิ Bangkok Mini Maker Faire, Young Makers Contest, Maker Space Designing Workshop ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนไทยล้วนมีศักยภาพในการเป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือ เมกเกอร์ หากแต่ยังต้องการแรงสนับสนุนและพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดอยู่อีกมาก การเปิดให้บริการ Enjoy Maker Space เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้พัฒนาศักยภาพสู่การเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ นักประดิษฐ์ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นความคืบหน้าสำคัญของโครงการฯ ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมของประเทศได้ยั่งยืนต่อไป”