ข่าวประชาสัมพันธ์ กรมทะเลฯ จับมือเชฟรอนและจุฬาฯ จัดวางขาแท่นเป็นปะการังเทียมครั้งแรกในไทย สร้างความสมบูรณ์ให้ท้องทะเลไทย จ.สุราษฎร์ธานี

นายโสภณ ทองดี (ซ้าย) อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เป็นผู้แทน ทช. ลงนามรับ มอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดย นายไพโรจน์ กวียานันท์ (ขวา) ประธานกรรมการบริหาร หลังนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดวางเป็นปะการังเทียมบริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผลสำเร็จเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ดำเนินการ โครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยได้เริ่มวางขาแท่นแรกเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 และได้วางขาแท่นสุดท้าย (ขาแท่นที่ 7) เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้รับการตรวจสอบและรับรองจากผู้เชี่ยวชาญการสำรวจทางทะเลเป็นที่เรียบร้อย และในวันนี้ (18 พฤศจิกายน 2563) ได้จัดพิธีส่งมอบให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่โครงการ ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะได้กำหนดแผนการติดตามผลการดำเนินงานและแนวทางการบริหารจัดการภายหลังการวางขาแท่นปิโตรเลียมต่อไป


นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เปิดเผยภายหลังจากพิธีรับมอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ว่า “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ดำเนินโครงการนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมมาจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ในพื้นที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 อย่างไรก็ตาม การจัดวางขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ได้ผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ และผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล โดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้ง ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่แล้ว ทำให้สามารถมั่นใจได้ในระดับหนึ่งก่อนดำเนินการจัดวาง ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เสนอแนวทางการดำเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ และได้รับความเห็นชอบในหลักการเรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะได้กำหนดเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine protected area) พร้อมแผนและมาตรการการบริหารจัดการพื้นที่จัดวางขาแท่นดังกล่าว รวมทั้งแนวทางการติดตามและศึกษาผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบจากการใช้ขาแท่นปิโตรเลียมในการจัดวางเป็นปะการังเทียม ดังนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะได้กำหนดแนวทางการติดตามผลกระทบในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศทางทะเล เพื่อการตัดสินใจในระดับนโยบาย การต่อยอดโครงการในอนาคต  และการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์

“สุดท้าย ตนอยากขอบคุณบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะหนึ่งในบริษัทชั้นนำในด้านการผลิตและสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญและความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ดีมาโดยตลอด และตนเชื่อว่าความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน จะยังเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นในการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศให้คงความสมบูรณ์ ยั่งยืน เช่นนี้ต่อไป” นายโสภณ กล่าวเสริม

ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัทผู้ร่วมทุน ประกอบด้วย บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนโครงการนี้ ด้วยการส่งมอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วให้กับ ทช. ไปจัดวางเป็นปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย พร้อมทั้งให้การสนับสนุนด้านการจัดวางและงบประมาณโครงการฯ ตลอดจนจัดหาผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศและนำเทคโนโลยี ที่ทันสมัยมาใช้สนับสนุนงานศึกษาวิจัยของโครงการฯ ซึ่งเชื่อมั่นว่าโครงการศึกษานำร่องนี้จะสร้างองค์ความรู้ที่มีค่าด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลด้วยปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ซึ่งเป็นแนวทางที่มีการดำเนินงานในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยตลอดระยะการดำเนินงาน เชฟรอนได้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนดกฎหมายและเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในระดับสากล”

“โครงการศึกษานำร่องนี้ เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ที่ผลักดันให้โครงการเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการอนุมัติอนุญาต เริ่มตั้งแต่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ให้ความเห็นชอบในการรื้อถอนและโอนย้ายขาแท่นมาจัดวางเป็นปะการังเทียม ตลอดจน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง ซึ่งอนุมัติอนุญาตให้ดำเนินการจัดวางปะการังเทียมในครั้งนี้ พร้อมทั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งได้ให้ความสนใจและติดตามการทำงานของโครงการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันทางวิชาการ ได้แก่ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย  และคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการทางทะเล รวมถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมศึกษาวิจัยการจัดทำปะการังเทียมจากขาแท่นและกำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจัดวาง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าวัสดุขาแท่นสามารถสร้างประโยชน์ให้กับท้องทะเลไทยได้จริง ในนามบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัทผู้ร่วมทุน  ผมขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่สนับสนุนให้โครงการฯ เกิดขึ้นได้ เพื่อเป้าหมายในการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน” นายไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

นายโสภณ ทองดี (ซ้าย) อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รับมอบแบบจำลองของพื้นที่โครงการฯ จาก นายไพโรจน์ กวียานันท์ (ขวา) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือ

ผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการศึกษานำร่องฯ